วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทศพิธราชธรรม


ทศพิธราชธรรม  ล้ำเลอค่า                
คือธรรมะแห่งราชาพาสุขสันต์
สิบประการปรากฏยศอนันต์            
คือมิ่งขวัญประชาไทยไร้มลทิน

ข้อที่หนึ่งนั้น ทาน คือการให้              
น้ำพระทัยดุจมหาชลาสินธุ์
พระเมตตาการุณอุ่นชีวิน                  
ราษฎร์มีกินอยู่สุขไม่ทุกข์ทน



ข้อที่สองคือ ศีล ศรีสวัสดิ์                  
ประชักษ์ชัดทรงสร้างทางกุศล
บริสุทธิ์่ผ่องใสไร้มัวมน                  
 ทรงนำชนนำชาติพิลาสพิไล

ข้อที่สาม บริจาค แม้ยากยิ่ง                
สละสิ่งผูกพันไม่หวั่นไหว
สละสุขทั้งมวลล้วนเพื่อไทย            
เสด็จไปทั่วสถานทุกวารวัน

ข้อที่สี่ อาชวะ พระยึดถือ                    
คือความซื่อตรงแน่ไม่แปรผัน
สุจริตบริสุทธิ์ยุติธรรม์                      
ทุกสิ่งอันคือบรรทัดควรศรัทธา

ข้อที่ห้า มัทวะ  พระโอนอ่อน            
ทรงอาทรนิกรไทยไม่ถือสา
งามเลิศล้ำพระธรรมจรรยา              
ปวงประชาได้เห็นเป็นอาจิณ

ข้อที่หก คือ เพียร ไม่เปลี่ยนผัน        
ทรงมุ่งมั่นราชกิจนิจสิน
เพื่อประโยชน์ปวงประชาทั่วธานินทร์
ทั่วฐานถิ่นจอมกษัตริย์ทรงพัฒนา

ข้อที่เจ็ด อโกธา  เมตตายิ่ง              
แม้มีสิ่งขัดพระทัยไม่โทษา
ปวงข้าไทใกล้ิชิดพระกิจจา              
พระกรุณาเลิศล้ำเกินรำพัน

ข้อที่แปด อวิหิงสา  ย่อมปรากฏ        
พระทรงยศล้ำเลิศประเสริฐสรรพ์
ไม่เบียดเบียนทั้งมวลล้วนอัศจรรย์    
สารพันทรงเดชพระเมตตา


ข้อที่เก้า  ขันติ  คืออดทน                  
ชาวไทยพ้นทุกข์ยากมากนักหนา
ทรงอดทนอดกลั้นด้วยฉันทา            
นำไทยฝ่าวิกฤตการณ์ผ่านผองภัย

ข้อที่สิบ อวิโรธนะ                              
ไม่เลยละความถูกควรล้วนผ่องใส
ตามครรลองคลองธรรมทรงนำไทย  
 เป็นฉัตรชัยร่มเกล้าชาวประชา

คือธรรมิกราชไทยผ่องไพจิตร            
พระสถิตในดวงใจไทยทั่วหล้า
ทวยราษฎร์พร้อมน้อมถวายชัยราชา  
ร่มฉัตราขอจงทรงพระเจริญ

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ไทย



อิทิสัง ฉันท์

เออนะไทยนะจิตกระไรอุบาทว์.             ประหารชิวิตประดุจชาติ
ดิรัจฉาน
โหดนะเหลือจะกล่าวเพราะอัประมาณ.  จะร่ำจะลือสกล ณ กาล
ละบัดนี้
โลกจะหยันจะเหยียดสยามมิมี.              อะไรจะเหลือละศักดิ์และศรี
บ เหลือติด
หลงอุบายอุบาทว์และขาดวินืจ.             ก็โลดประจญประจัญ บ คิด
ละหน้าหลัง
เลือดสยามก็ล้างสยามมิยั้ง.                  ประหัตประหารเพราะมานคลั่ง
และแค้นเคือง
เลือดสยามชโลมธราประเทือง.             ประเทศสยาม ฤ เพื่อประเทือง
ณ ผู้ใด
สูญชืวาตม์และอาจผดุงไผท.                จะสูญก็สูญฉะนั้นละไซร้
ก็ควรพลี
สูญชิวาตม์ผดุงทุชาติกลี                       อนาถ บ อาจจะเอ่ยวจี
ประมวลความ



วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลากหลายวัฒนธรรม

หลากหลายวัฒนธรรม...ที่สาทร




สายสัมพันธ์จีนไทยนั้นใกล้ชิด
เคยเป็นมิตรค้าขายหลายสมัย
เรือสำเภาสินค้าแล่นมาไป
คนจีนไทยรู้จักกันสรรค์ไมตรี
แต่ก่อนจีนใหญ่โตดูโอ่อ่า
วิทยาความรู้ชูศักดิ์ศรี
ผลิตกระเบื้องไหมผ้ายาชั้นดีั
จีึงเป็นที่่นับถือเลื่องลือชา





ครั้งเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ปิดประเทศ
เป็นสาเหตุฆ่าฟันกันหนักหนา
ต้องหลบลี้หนีพ้นดั้นด้นมา
พึ่งบุญญาร่มฉัตรกษัตริย์ไทย
ได้ืัที่อยู่ทำกินไม่สิ้นหวัง
ให้ก่อตั้งแหล่งหลักพักอาศัย
จีนขยันอดทนไม่จนใจ
อยู่ที่ใดก็ขยันหมั่นทำกิน




วัฒนธรรมเก่าแก่อย่างแต่ก่อน                                          
ยังอาวรณ์ในจิตนิจสิน
จีนนับถือเทพยดาทั้งฟ้าดิน                                              

ทุกที่ถิ่นเซ่นสรวงบวงบูชา
ทั้งนับถือพระโพธิสัตว์ขจัดทุกข์
ช่วยปลอบปลุกดวงใจให้หรรษา
กตัญญูบรรพชนแต่ต้นมา
ยังศรัทธาสืบไว้ให้ยืนนาน
ถึงตรุษสารทเซ่นไหว้ไม่ทอดทิ้ง
ทุกทุกสิ่งยังเห็นเป็นแก่นสาร
ทั้งเล่นงิ้วเชิดสิงโตแบบโบราณ
ทุกหย่อมย่านยังเห็นเป็นอาจิณ



สร้างศาลเจ้าอย่างจีนดูเจิดจ้า
งามสง่ามังกรพันล้วนสรรค์ศิลป์
สีแดงเด่นทองทาไร้ราคิน
วาดฟ้าดินสารพัสัตว์มงคล
ตั้งรูปพระโพธิสัตว์พิสุทธิ์ศรี
รูปเทพมีเรียงรายหลายแห่งหน
ได้เซ่นไหว้บูชิตตามจิตตน
หวังให้ดลสิ่งดีมีสุขใจ
"ศาลเจ้าแม่ทับทิม" สถิตสถาน
คนเรียก "ศาลอาม่า" น่าเลื่อมใส
ว่าศักดิ์สิทธิ์อาจช่วยอำนวยชัย
ผู้คนได้ใกล้ชิดเป็นนิจมา



"ศาลเจ้าแม่พรหมเมศ" ไม่เว้นว่าง
ล้วนสรรค์สร้างแต่โบราณนานหนักหนา
คือชาติหนึ่งแห่งพระพุทธวิสุทธา
เมื่อกำเนิดเป็นธิดาจอมราชันย์
พระบิดาดุร้ายทำลายล้าง
พระธิดาเสกสร้างพิสุทธิ์สรรค์
มุ่งบำเพ็ญบารมีชั่วชีวัน
ด้วยนึดมั่นคุณธรรมจึงสัมฤทธิ์
ได้บรรลุโพธิญาณในกาลหน้า
คนเรียกว่าโพธิสัตว์แสนศักดิ์สิทธิ์
นาม "กวนอิม" คนศรัทธาทุกสารทิศ
งามวิจิตรบรรจงสร้างสำอางตา




เป็นรูปลักษณ์นารีศรีสวัสดิ์
อวยพิพัฒน์มงคลดลสุขา
จึงนับถือสืบทอดตลอดมา
ทุกวัดวาแลเห็นเป็นอาจิณ
ยังอีกหลายศาลเจ้าเท่าที่รู้
ล้วนตั้งอยู่ในย่านสถานถิ่น
เทศกาลงานกุศลได้ยลยิน
ไม่สูญสิ้นแบบแผนประเพณี










ศาสนาทั้งมวลล้วนสรรค์สร้าง
เป็นแนวทางดีงามตามวิถี
แม้แตกต่างแนวคิดทฤษฎี
แต่มุ่งมีคุณธรรมค้ำจุนใจ
ทั้งพุทธคริสต์อิสลามตามแต่เชื่่อ
ล้วนก่อเกื้อแนวทางสร้างนิสัย
กษัตราธิราชเจ้าแห่งชาวไทย
ทุกสมัยทรงเมตตาเอื้ออาทร





ไม่กีดกันเชื่้อชาติศาสนา
ต่างศรัทธาศีลธรรมคำสั่งสอน
คือความต่างในความเหมือนเตือนสังวร
ไม่เดือดร้อนล้ำรุกเป็นทุกข์ใจ
เหมือนกรวดหินดินทรายธาตุหลายอย่าง
ที่ร่วมสร้างโลกเห็นเป็นโลกได้
จะต่างชาติศาสนาภาษาใด
ล้วนอยู่ในโลกหล้าฟ้าเดียวกัน








           





วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มัสยิดยะวา

มัสยิดยะวา


ศาสนาอิสลามตามประวัติ
ได้ชี้ชัดสืบสานนานหนักหนา
ครั้งกรุงเก่าชาวศรีอยุธยา
เคยไปมาค้าขายหลายชาติชน
ทั้งชวามลายูอยู่ชิดใกล้
มาอยู่ไทยตั้งหลักแหล่งหลายแห่งหน
วัฒนธรรมมากมวลล้วนปะปน
ท้งผู้คนภาษาสารการอยู่กิน


ในกรุงเทพฯ ธานีมีหลากหลาย
จนสืบสายวงศ์วารสถานถิ่น
รับราชการนานมาไร้ราคิน
ร่วมแผ่นดินแดนไทยไม่อาทร
ต่างกันแต่ศรัทธามาแต่หลัง
ได้ปลูกฝังทางธรรมคำสั่งสอน
เชื่ออัลเลาะห์สร้างสรรค์หมั่นสังวรณ์
ตราบวันมรณ์มั่นอยู่น้อมบูชา


ศาสดามูฮำหมัดได้ชัดชี้
นำวิถีสร้างชาติศาสนา
ยึดระเบียบปฏิบัติเคร่งครัดมา
ด้วยศรัทธาแนวทางที่ต่างไป
จึงสร้างวัดมัสยิดตามจิตมุ่ง
ช่วยผดุงศาสนาน่าเลื่อมใส
ทำละหมาดศาสนกิจน้อมจิตใจ
ทุกอย่างได้สร้างกุศลหนทางธรรม



ศิลปะก่อสร้างอย่างที่เห็น
มีโดมเด่นดาวเดือนเหมือนคืนค่ำ
สัญลักษณ์มีกำหนดให้จดจำ
ช่วยเตือนย้ำกำเนิดชาติพระศาสดา
สถาปัตย์จัดแต่งช่างแปลงดัด
สารพัดเลอลักษณ์นั้นหนักหนา
ืที่สาทรมี "มัสยิดยะวา"
เป็นศูนย์รวมศรัทธาน่าชื่นชม



ตามประวัติสืบค้นแต่ต้นเค้า
ว่าเป็นเหล่าชาวชวามาสร้างสม
แต่สมัยไล่ล่าอาณานิคม
หลายชาติล่มบ้างลี้หลีกหนีภัย
อินโดนีเซียล่องเรือมาหาที่อยู่
จึงมาสู่ถิ่นนี้ที่อาศัย
วัฒนธรรมเก่าแก่มาแต่ไร
ทุกสิ่งได้สืบสร้างอย่างโบราณ



ทั้งรูปทรงมัสยิดประดิษฐ์สร้าง
ดูเหมือนอย่างเรื่องเก่าที่เล่าขาน
แลดูรูปหลังคาทั้งอาคาร
ทรงสัณฐานยลแยบแบบชวา
คือความรักความหลังยังพันผูก
ถึงรุ่นลูกเหลนหลานนานนักหนา
ได้สืบทอดคงไว้ไม่ร้างรา
ล้วนคุณค่าควรคิดตราติดใจ

















วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โบสถ์คริสต์...ที่สาทร



โบสถ์อัสสัมชัญ,โบสถ์เซ็นหลุยส์




ชาติตะวันตกมีไมตรีจิต
เคยเป็นมิตรไปมาได้ค้าขาย
วัฒนธรรมหลายหลากมีมากมาย
จึงเริ่มถ่ายทอดสู่เรียนรู้กัน
ครั้นอยู่นานสานสรรค์จรรโลงศิลป์
ได้ยลยินแบบอย่างล้วนสร้างสรรค์
โปรตุเกสฮอลันดาสารพัน
แต่ปางบรรพ์มีประวัติอยู่ชัดเจน


ด้วยประเทศเขตแดนแคว้นเราเขา
สมัยเก่าอยู่ไกลมองไม่เห็น
ครั้นกรุงเทพฯ ธานีมีอันเป็น
เกิดเคืองเข็ญยุคล่าอาณานิคม
ทั้งอังกฤษฝรั่งเศสก่อเหตุร้าว
เป็นเรื่องราวหลายชาติพินาศล่ม
ลาวพม่าเขมรญวนล้วนตรอมตรม
ไทยขื่นขมเสียดินแดนแสนเสียดาย 


ด้วยเดชะพระปิยะมหาราช
จึงแคล้วคลาดทุกข์ร้อนก่อนจะสาย
จอมกษัตริย์เล็งเหตุเพทุบาย
คิดผ่อนคลายสร้างสัมพันธ์สรรค์ไมตรี
ทั่วยุโรปเสด็จเยือนเหมือนอย่างมิตร
ให้ต่อติดเพื่อนพ้องดุจน้องพี่
ลบรอยร้าวรานไปไร้ราคี
ไทยจึงมีอิสราน่าภูมิใจ





ทั้งการฑูตการค้าสารพัด
ทรงเร่งรัดก้าวหน้ากว่าครั้งไหน
ฝรั่งแขกมาสู่อยู่เมืองไทย
ศิวิไลย์หนักหนาที่สาทร
ตัดถนนกว้างขวางเป็นทางรถ
งามหมดจดแปลกตากว่าครั้งก่อน
เจริญกรุงเจริญตาน่าสัญจร
สถาพรพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน
สถานทูตสำนักงานทั้งบ้านช่อง
ดูทำนองแปลกอย่างคิดสร้างสรรค์
ทรงยุโรปหรูหราสารพัน
ปัจจุบันยังอร่ามงดงามตา





โบสถ์ฝรั่งทั้งนั้นได้สรรค์สร้าง

ไม่ราร้างลืมชาติศาสนา
ด้วยต่างคนต่างจิตคิดศรัทธา
แม้จากมาไกลห่างต่างแผ่นดิน
ชาวคริสต์เชื่อพระเจ้าสร้างสรรพสิ่ง
ไม่ทอดทิ้งบูชิตนิจสิน
เชื่อพระบุตรผู้ไถ่ไร้มลทิน
ยอมสูญสิ้นเพื่อสร้างทางนิรันดร์






รูปพระแม่มาเรียอุ้มพระบุตร
สัญลักษณ์บริสุทธิ์ที่สร้างสรรค์
คือกำเนิดพระเยซูสู่สามัญ
เพื่อมุ่งมั่นชี้ทางสร้างความดี
มีรูปไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์
เตือนตระหนักถึงพระบุตรพิสุทธิ์ศรี
ต้องโทษทัณฑ์ทรมานผลาญชีวี
ด้วยทรงชี้ทางสวรรค์อันบวร






คือมหาเมตตาคุณอดุลย์ค่า
ผู้ศรัทธาน้อมนำคำสั่งสอน
สร้างพระรูปเตือนจิตคิดสังวร
ให้อาทรเือื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน
"โบสถ์อัสสัมชัญ" สร้างอยู่บางรัก
ทั้งรูปลักษณ์ลือเล่าคนกล่าวขวัญ
กระจกสีลวดลายพร่างพรายพรรณ
ทุกสิ่งสรรพ์แลระยับงามจับตา





ชาวคริสต์ได้ทำบุญหนุนนำเนื่อง
จึงรุ่งเรืองโดดเด่นเห็นคุณค่า
ทำพิธีต่างต่างอย่างก่อนมา
ด้วยศรัทธาถือมั่นสรรค์ความดี
ทั้งรับศีลแต่งงานการทำศพ

ทั้งน้อมนบสวดมนตร์ดลสุขศรี
คริสต์มาสจัดงานใหญ่ให้เปรมปรีดิ์
ประเพณีสืบสานมานานวัน


"โบสถ์เซ็นต์หลุยส์"สร้างใหม่ไม่นานนัก
บำรุงรักเสริมสร้างทางสุขสันต์
ให้วัดอยู่คู่ชุมชนผลอนันต์
ใกล้ชิดกันช่วยเหลือเอื้้ออารี
นามโบสถ์นี้ตั้งตามนามสังฆราช
ผู้ประกาศศาสนธรรมนำวิถี
"หลุยส์  โชแรง" แน่ชัดประวัติมี
ทำพิธีเสกสร้างอย่างโอฬาร



เพื่อชาวคริสต์ได้มีที่พึ่งพัก
ยึดเป็นหลักทางใจให้สุขศานต์
เป็นโบสถ์ใหญ่ทรงยุโรปแลตระการ
อยู่ในย่านยานนาวาเขตสาทร
คนทำบุญทำทานเกื้อการกิจ
วัดนำจิตให้พระธรรมคำสั่งสอน
สร้างสังคมอุดมค่าสถาวร
ดับทุกข์ร้อนร่มรื่นชื่นชีวา

          

























วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วัดปรก


วัดปรก

มอญพม่าลาวไทยอยู่ใกล้ชิด
เป็นทั้งมิตรทั้งศัตรูคู่แข่งขัน
บางครั้งถึงรบรามุ่งฆ่าฟัน
บางครั้งผูกสัมพันธ์มั่นไมตรี
ทั้งเชื้อชาติศาสนาภาษาสรรพ์
ปะปนกันเหมือนเช่นเป็นน้องพี่
ความเป็นอยู่แบบแผนประเพณี
แต่ล้วนมีหลากหลายคล้ายคล้ายกัน








ประวัติศาสตร์ชาติมอญแต่ก่อนเก่า
เป็นพงศ์เผ่ามีประเทศครองเขตขัณฑ์
ทั้งสร้างสมวัฒนธรรมล้ำลาวัณย์
สารพันศิลป์ศาสตร์วิลาสวิไล
มอญสูญสิ้นแผ่นดินสิ้นสง่า
ถุกพม่าครอบครองหมองหม่นไหม้
ที่ทนอยู่สู้รับอัปราชัย
ที่หนีได้ทิ้งถิ่นแผ่นดินตน








กระจัดกระจายหลายครามาพึ่งพัก
ตั้งแหล่งหลักในไทยหลายแห่งหน
เป็นถิ่นฐานรวมอยู่เป็นหมู่ชน
สืบนุสนธิ์สรรค์สร้างอย่างโบราณ
"วัดปรก" สร้างอย่างมอญอาวรณ์ถวิล
ด้วยพลัดถิ่นทุกข์ยากไกลจากบ้าน
เตือนสำนึกเผ่าพงศ์ญาติวงศ์วาร
ยังสืบสานวัฒนธรรมย้ำกมล








เป็นร่องรอยอาลัยในสำนึก
จารจารึกฝากแฝงทุกแห่งหน
ทั้งสืบสานสอนสั่งฝังใจตน
ไม่ลืมชนเชื้อเผ่าแต่เก่ากาล
แม้มอญสิ้นแผ่นดินอยู่ยังรู้ค่า
เรียนภาษาสืบต่อพ่อลูกหลาน
ประวัติศาสตร์แต่หลังครั้งโบราณ
ยังเล่าขานสืบทอดตลอดมา







สถาปัตย์วัดปรกประณีตลักษณ์
ได้ประจักษ์แยบอย่างช่างหงสา
ล้วนชาวมอญอพยพหลบหนีมา
จากดินแดนพม่าหงสาวดี
ประดับประดารูปหงส์ดูทรงศักดิ์
ฉลุฉลักลวดลายระบายสี
ทั้งหน้าบันอุโบสถปรากฏมี
องค์เจดีย์กำแพงแก้วงามแพรวพราย








ยังสวดมนตร์เทศนาภาษามอญ
ทั้งสืบสอนประวัติไว้ไม่สูญหาย
ภาษามอญรำ่เรียนเพียรภิปราย
สืบเชื้อสายใ้ห้รู้จักรักเผ่าพงศ์
แรมหนึ่งค่ำเดือนสามตามแต่ก่อน
วันชาติมอญคงไว้ไม่ลืมหลง
แม้ไม่มีแผ่นดินไม่สิ้นวงศ์
ยังดำรงความเป็นชาติไม่คลาดคลาย






                                            




วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


วัดวิษณุ











ด้วยวัดแขกเนื้อที่มีไม่มาก
จึงยุ่งยากอัดแอแก้ไม่ไหว
ชาวฮินดูที่อยู่ในเมืองไทย
หลอมรวมใจสร้างอีกวัดด้วยศรัทธา
สำหรับได้ปฏิบัติศาสนกิจ
สร้างชีวิตสรรค์เสริมเพิ่มคุณค่า
อยู่ในซอยวัดปรกยานนาวา
ดูแปลกตาสถาปัตย์น่าอัศจรรย์





โบสถ์หินอ่อนจำลองสร้างอย่างเมรุมาศ
ที่ประทับเทวราชนรังสรรค์
มีโบสถ์ย่อยเรียงลำดับนับอนันต์
เป็นเชิงชั้นหลั่นลดงดงามตา
เหมือนแบบอย่างอุตรประเทศถิ่น
ประณีตศิลปกรรมล้ำเลอค่า
รูปหินอ่อนสร้างด้วยมือร่ำลือชา
ประติมาไพจิตรพิสดาร
ยี่สิบสี่องค์เทพเสถียรสถิต
ดุจดังรูปนิรมิตประดิษฐาน
ผู้ศรัทธามาวัดนมัสการ
เปรียบวิมานแมนสรวงปวงเทวา 




ให้ชื่อ "วัดวิษณุ" นามเทวะ
ผู้สละสุขผองปกป้องหล้า
ตามตำนานเชื่อถือร่ำลือมา
หลายครั้งคราอวตารผลาญทุกข์ภัย
เมื่อยามยุคยากเข็ญเป็นสาหัส
ทรงขจัดชั่วร้ายหลายสมัย
มีนามเรียกผิดแผกแตกต่างไป
ปรากฏในวรรณคดีมีำตำรา
"กฤษณะ" "พระนารายณ์" หลากหลายชื่อ
พระหัตถ์ถือจักราวุธสุดแกล้วกล้า
พาหนะประทับทรงองค์ครุฑา
มีนาคาเป็นบัลลังอลงกรณ์









ไทยรู้จักรามเกียรติ์ได้เรียนรู้
พระรามสู้ศึกหาญชาญสมร
ทศกัณฐ์ลักสีดาพาจากจร
พระสี่กรตามติดพิชิตชัย
ทั้งพระลักษมณ์หนุมานทหารกล้า
ผลาญวงศาพระยายักษ์ให้ตักษัย
คือปางหนึ่งแห่งพระกฤษณ์ฤทธิไกร
ช่วยแดนไตรพ้นทุกข์ยุคกลี
เป็นที่ตั้งสมาคมอุดมค่า
"ฮินดูธรรมสภา" สง่าศรี
ดำเนินการสานสัมพันธ์สรรค์ไมตรี
ให้พราหมณ์มีศูนย์รวมอยู่ร่วมกัน