วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี


วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก)





แดนชมพูทวีปนั้นในวันเก่า  
อาจนับเอาเป็นศูนย์กลางได้สร้างสรรค์
วัฒนธรรมมากมวลล้วนสำคัญ
เนิ่นนานวันสืบสายขยายไป
ทั้งศิลปะวรรณกรรมล้ำคุณค่า
ยังก่อเกิดศาสนาน่าเลื่อมใส
พราหมณ์ฮินดูเก่าแก่มาแต่ไร
แต่ครั้งกรุงสุโขทัยได้ยลยิน




ทั้งอักษรภาษาสารพัด
ล้วนแปลงดัดจากอินเดียเสียทั้งสิ้น
พิธีกรรมทำมาเป็นอาจิณ
ทุกฐานถิ่นแลเห็นเป็นธรรมดา
เหตุด้วยพราหมณ์รู้พระเวทย์วิเศษศาสตร์
จึงสามารถชี้นำธรรมกถา
สรรพศิลป์สารพัดปรัชญา
เป็นครูบาอาจารย์ชำนาญวิทย์
พราหมณ์ศรัทธาบวงสรวงปวงเทวะ
กฤษณะพรหมอิศวรล้วนศักดิ์สิทธิ์
สร้างสถานเทวาลัยไว้บูชิต
ถือเป็นกิจพึงกระทำนำชีวี






ที่สีลมมีศาสนสถาน
ผู้คนขานเรียก "วัดแขก" แปลกวิถี
"วัดพระศรีมหาอุมาเทวี"
นาถนรียิ่งใหญ่ในตำนาน
มเหสีศิวะเจ้าจอมเทเวศน์
มีฤทธิ์เดชมากนักเกินจักขาน
อาจแบ่งภาคเปลี่ยนไปได้ตามกาล
คนขนานเรียกอย่างต่างกันไป








"ทุรคา" "กาลี" ล้วนมีเหตุ
ขจัดเภทพาลยักษ์ให้ตักษัย
จึงดุดันอาจองทะนงใจ
สามโลกไร้ผู้กล้ามาต้านทาน
แต่ยามเป็น "พระอุมา" สง่าศรี
พระทัยดีล้ำเลิศประเสริฐศานต์
อาจอำนวยพรชัยให้สราญ
มากประมาณตามจิตประสิทธิ์พลัน




ที่วัดแขกคนเคารพมานบไหว้
ขอพรให้โชคดีมีสุขสันต์
ประกอบกิจศาสนาสารพัน
อย่างเบื้องบรรพ์ประเพณีเคยมีมา
ทุกทุกปีมีงานการฉลอง
ตามครรลองเชื้อชาติศาสนา
"นวราตรี" พร้อมน้อมบูชา
สวดมนตราไสยเวทย์อย่างเพศพราหมณ์









ในราตรีที่สิบนั้นสืบสาน
พิธีการผุ้คนเหลือล้นหลาม
อัญเชิญเทวรูปออกนอกอาราม
คนติดตามแหนแห่พระแม่อุมา
ต่างเซ่นสรวงบวงพลีมีต่างต่าง
เหมือนแบบอย่างเชื่อกันนั้นหนักหนา
ให้ทุกข์ทนทุเรศน่าเวทนา
ทรมานกายาสารพัด
ทั้งทุบตีทิ่่มแทงดูแรงร้าย
ด้วยมุ่งหมายเทวีศรีสวัสดิ์
ทรงเมตตาอวยชัยให้พิพัฒน์
ช่วยขจัดขัดข้องพ้นผองภัย






วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สตรีศรีสุริโยทัย ในอดีต


วัดสุทธิวราราม

จากสตรีบ้านทวาย  กลายมาเป็น ศท.


แต่โบราณกาลก่อนย้อนเรื่องเล่า
ชาติไทยเราเคยทุกข์เคยสุขสันต์
เหลือร่องรอยหลักฐานผ่านคืนวัน
สารพันควรค่าน่าเรียนรู้
วัฒนธรรมอำไพแห่งไทยชาติ
ล้วนประกาศให้เห็นความเป็นอยู่
ทุกถิ่นที่มีให้เห็นเหมือนเป็นครู
สอนให้รู้สอนให้รักประจักษ์ใจ










ศิลปะประเพณีมีสืบสาน
ดุจตำนานเล่าแจ้งแถลงไข
ส่ิองสะท้อนให้เห็นความเป็นไป
แฝงอยู่ในวิญญาณ์น่าอัศจรรย์
ไทยรุ่งเรืองเมืองพุทธพิสุทธิ์ศรี
นับพันปีผ่านทุกข์ผ่านสุขสันต์
ได้อาศัยหลักธรรมนำชีวัน
ล้วนยึดมั่นสืบทอดตลอดมา





เมื่อตั้งแหล่งตั้งหลักพักอาศัย
มักร่วมใจสร้างอาวาสศาสนา
ด้วยวัดเป็นที่พึ่งซึ้งวิญญาณ์
จึงศรัทธาแน่นหนักประจักษ์ใจ
มีลูกหลานพากเพียรได้เรียนรู้
พระเป็นครูอบรมบ่มนิสัย
ที่ขัดข้องเคืองเข็ญเป็นอย่างไร
เป็นที่พึ่งซึ้งใจหายร้อนรน
จนถึงวันสุดท้ายวายชีวิต
ญาติอุทิศทานให้ได้กุศล
ทุกหนแห่งแหล่งย่านบ้านชุมชน
จึงขวายขวนสร้างวัดด้วยศรัทธา





ที่สาทรก่อนนี้มีวัดเก่า
พอรู้เค้าเหลือไว้ได้ศึกษา
"วัดคอกควาย" เก่าแก่แต่บรรพา
เปลี่ยนเป็น "วัดยานนาวา" สถาพร
ยัง "วัดลาว" มีชื่อร่ำลือขาน
สร้างแต่กาลกรุงศรีฯ มีนุสรณ์
ล้วนชาวบ้านก่อเกื้อเอื้ออาทร
จึงถาวรคงมั่นนิรันดร์มา







จนกรุงเทพฯ ธานีมีประวัติ
บูรณะวัดแห่งนี้ศรีสง่า
"ท่านผู้หญิงสุทธิ์" นั้นมั่นศรัทธา
ภริยา "เจ้าพระยาวิเชียรคีรี"
สร้างอุโบสถใหม่ได้ประจักษ์
ให้สมศักดิ์อารามอร่ามศรี
แผ่นดินหกแน่ชัดประวัติมี
นามวัดนี้เปลี่ยนใหม่ในครั้งนั้น







รัชกาลที่หกพระราชทาน
เป็นหลักฐานสืบไว้ได้สร้างสรรค์
"วัดสุทธิวราราม" งามลาวัณย์
ถึงปัจจุบันลือร่ำเกียรติกำจาย
ด้วยท่านเป็นต้นสกุล ณ สงขลา
บุตรธิดารุ่นหลังยังสืบสาย
สร้างโรงเรียนก่อนเก่าเล่าภิปราย
ทั้งหญิงชายเรียนรู้อยู่ด้วยกัน







"โรงเรียนวัดสุทธิวราราม"
ยังสืบนามยืนยงดำรงมั่น
ส่วน "สตรีวัดสุทธิ" ปัจจุบัน
สังกัดกรมสามัญนั้นเปลี่ยนไป
เป็น "สตรีบ้านทวาย" ได้บันทึก
จารจารึกประวัติมีชี้ชัดได้
ในซอยดอนกุศลสร้างไม่ห่างไกล
"การช่างพระนครใต้" แต่เดิมที






แล้วเปลี่ยนนามตามรัฐนิยม
ให้เหมาะสมคุณค่าสง่าศรี
จึงได้นามตามนั้นตราบวันนี้
"โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย"
คือเรื่องราวเก่าก่อนย้อนสืบค้น
ทุกแห่งหนความรู้มีอยู่ใกล้
ประวัติความเป็นมาน่าสนใจ
สะท้อนให้เห็นค่าสารพัน



                  
                          



วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดดอน...ร่องรอยที่หลงเหลือ



วัดบรมสถล (วัดดอน)

วัดดอนทวาย, เจดีย์ดำ  ร่องรอยชาวทวายที่ยังหลงเหลือ



เรื่องวัดดอนก่อนเก่าเล่าขยาย
พระยาทวายสามิภักดิ์สโมสร
เมื่อแรกตั้งนคราฟ้าอมร
ทรงอาทรให้อยู่เป็นหมู่ชน
ล้วนนับถือศาสนามาก่อนเก่า
จึงใฝ่เฝ้าจิตใจใฝ่กุศล
แม้ยากไร้ถิ่นที่มีหรือจน
ในกมลยังมีที่พึ่งพา








ตรงที่ดอนจึงสร้างวัดเอาไว้
ผู้คนได้ทำบุญมีคุณค่า
เรียกชื่อ "วัดดอนทวาย" หลายปีมา
ถึงราชาพระจอมเกล้าฯ เจ้าแผ่นดิน
พระราชทานนามวัด "บรมสถล"
ปรากฏจนบัดนี้ไม่มีสิ้น
เป็นวัดราษฎร์มีชื่อลือระบิล
อยู่ในถิ่นยานนาวามาเนิ่นนาน





"เจดีย์ดำ" โดดเด่นยังเห็นอยู่
จารึกผู้สร้างไว้ให้สืบสาน
ชาวพม่า "โพ้ส่วยดอง" ต้องรบราญ
เบื่อหน่ายการสงครามตามราวี
มาออยู่ไทยในรัชกาลที่หนึ่ง
หันมาพึ่งพุทธธรรมนำวิถี
ได้สร้างสรรค์รูปทรงองค์เจดีย์
เหมือนอย่างที่เมืองพม่าแบบรามัญ
แม้วัดสร้างอย่างไทยเปลี่ยนไปหมด
ยังปรากฏเจดีย์ที่สร้างสรรค์
ให้เห็นเค้าเล่าเรื่องแต่เบื้องบรรพ์
ที่วัดนั้นนานเนาเก้าแผ่นดิน



วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สำเภาเจดีย์ ที่วัดยานนาวา


วัดยานนาวา

พระอารามหลวง ริมฝั่งเจ้าพระยา





ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีอาราม
ปรากฏนามเก่าแก่แต่กรุงศรีฯ
"วัดคอกควาย" แรกเริ่มแต่เดิมที
ธนบุรีเปลี่ยนเป็น "วัดคอกกระบือ"
มีฐานะเป็นพระอารามหลวง
เวลาล่วงผลัดแผ่นดินไม่สิ้นชื่อ
เมื่อจอมไทยสร้างเมืองจนเลื่องลือ
ทรงนับถือสร้างวัดสร้างศรัทธา


   


บูรณะวัดเก่าที่เศร้าหมอง
ให้เรืองรองร่มราษฎร์ศาสนา
เป็นแหล่งหลักพักใจไทยประชา
พระเมตตาทรงนำช่วยค้ำจุน
รัชกาลที่สามศรีสวัสดิ์
ทรงสร้างวัดน้อยใหญ่ได้เกื้อหนุน
วัดเก่าเสริมเติมสรรค์นั้นอดุลย์
เสริมสร้างบุญบารมีพระปรีชา







เจดีย์วัดคอกกระบือนั้นลือเล่า
เหมือนสำเภาจำลองลักษณ์นั้นหนักหนา
ด้วยแต่ก่อนภูวไนยเคยขายค้า
ใช้นาวาล่องแล่นต่างแดนดิน
ครั้นมีเรือกลไฟได้รู้จัก
ไม่นานนักสำเภาใหญ่จะไร้สิ้น
จึงสร้างไว้ให้ชนได้ยลยิน
บนฐานถิ่นอารามงามตระการ






ยังเปรียบเป็นปริศนาธรรมาด้วย
สำเภาช่วยนำส่งพ้นสงสาร
ครั้งพระเวสสันดรบำเพ็ญทาน
สองกุมารหลบลี้หนีภยันตร์
ทรงปลอบปลุกสองดรุณให้เริงรื่น
ดุจนาวาฝ่าคลื่นเข้มแข็งขัน
หมายโลกุตรธรรมนำชีวัน
สำเภานั้นให้เห็นเป็นอุปมา
เสากระโดงสูงเด่นเป็นเจดีย์
วิสุทธิ์ศรีเสาวลักษณ์เป็นหนักหนา
แล้วเปลี่ยนชื่อวัดงามอร่ามตา
เป็น "วัดยานนาวา" สถาวร



เจริญกรุง...จากวันนั้น ถึงวันนี้


เจริญกรุง

หัวลำโพง,คลองผดุงกรุงเกษม,เจริญกรุง,ถนนตก,สีลม
จากวันนั้้น...ถึงวันนี้





ทางถนนหนทางอย่างวันนี้
มิได้มีมาเก่าตามเล่าขาน
เพิ่งตัดเติมเสริมสร้างทางโอฬาร
ทุกหย่อมย่านควรค่าน่าสนใจ
ด้วยวิถีชาวไทยสมัยก่อน
มักสัญจรทางเรือทั้งเหนือใต้
ใช้แม่น้ำคูคลองขึ้นล่องไป
เรือเล็กใหญ่หลายหลากนั้นมากมี








ทางถนนคนใช้มีไม่มาก
ทั้งยุ่งยากโจรภัยจึงหน่ายหนี
จนกระทั่งฝรั่งไทยผูกไมตรี
ทั่วกรุงศรีจึงเร่งรัดพัฒนา
ชาวยุโรปมาไปใช้ทางบก
ไม่เรื้อรกหนทางกว้างนักหนา
ขับขี่รถเล็กใหญ่วิ่งไปมา
พระจอมเกล้าฯ ราชาจึงปรารมภ์







ให้ข้าราชการด้วยช่วยสรรค์สร้าง
ทำหนทางปูอิฐหินดินผสม
ขุดคูคลองคิดสร้างทางอุดม
เอามาถมเป็นถนนหนทางจร
ที่ทุ่งวัวลำพองเป็นคลองใหญ่
ขุดเอาไว้ให้เห็นเป็นนุสรณ์
คลอง "ผดุงกรุงเกษม" สถาวร
เมื่อครั้งก่อน "ถนนตรง" ยังคงมี






วัวลำพองชื่อเพี้ยนเปลี่ยนแปรผัน
"หัวลำโพง" เรียกกันนั้นแทนที่
ถนนใหม่แยกวกตกชลธี
จึงชื่อชี้ "ถนนตก" แต่เดิมมา
ฝรั่งเรียก "นิวโรด" รู้กันได้
ถนนสายใหม่นี้มีมีสง่า
ทั้งกว้างขวางใหญ่โตดูโอฬาร์
เรียกนามา "เจริญกรุง" จำเริญใจ







ยังถนนตัดขวางแต่บางรัก
ถึงสายหลักวัวลำพองนั้นผ่องใส
ตามคดีมีเค้าเ่ล่ากันไว้
ฝรั่งได้สร้างโรงสีมีมานาน
จึงเรียกนาม "สีลม" สมเหตุผล
ตามผู้คนแต่ก่อนเก่าเคยเล่าขาน
เหลือร่องรอยยังเห็นเป็นตำนาน
ทุกถิ่นฐานคงอยู่รู้คดี






















วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาทร...นามนี้มีประวัติ


สาทร

สาทร,สาธร  นามนี้มีประวัติ


นาม "สาทร" "สาธร" แต่ก่อนนี้
ไม่รู้ที่สังเกตคิดเหตุผล
จนผู้รู้ทักท้วงห่วงกังวล
สืบนุสนธิ์เรื่องหลังครั้งโบราณ
ชื่อสาทรก่อนนี้มีประวัติ
ปรากฏชัดบรรดาศักดิ์เป็นหลักฐาน
ครั้งพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเอาภาร
ดำริการขุดคลองใหม่ใช้สัญจร






ด้วยผู้คนมาไปใช้ทางน้ำ
เป็นประจำค้าขายไม่หยุดหย่อน
เจ้าสัวยมร่ำรวยช่วยอาทร
สร้างนุสรณ์ให้ที่ดินตรงถิ่นนี้
จ้างคนขุดคลองใหญ่ให้เสร็จสรรพ์
จึงเรียกกัน "คลองนายยม" สมศักดิ์ศรี
นับว่าช่วยเกื้อหนุนคุณความดี
พระภูมีอวยยศปรากฏพลัน




"หลวงสาทรราชายุกต์" สร้างสุขเสริม
ชื่อแต่เดิมมาเพี้ยนเปลี่ยนแปรผัน
เป็น "ธ" ธงหลงนามไปตามกัน
ปัจจุบันสืบค้นจนแน่ใจ
เป็นชื่อเขตชื่อคลองต้อง "ท" ทหาร
ด้วยสืบสานเรื่องนามตามสงสัย
ความหมายคือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไป
จึงแก้ไขคืนเป็นเช่นก่อนกาล













วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อดีตกาล...บ้านทวาย

อดีตกาล...บ้านทวาย

จากบ้านทวาย มาเป็น ยานนาวา
ที่ตรงนี้ มีประวัติ




อิฐทุกก้อนย้อนเล่าเค้าความหลัง
ธารไหลหลั่งย่อมมีที่เริ่มต้น
อดีตกาลฐานถิ่นแผ่นดินดล
บอกให้รู้เหตุผลรู้ต้นปลาย
ณ ที่นี้ที่เห็นที่เป็นอยู่
อาจสืบรู้เรื่องเก่าเล่าขยาย
มีร่องรอยหลากล้วนควรภิปราย
ให้สืบสายชี้ชัดประวัติกาล





ครั้งพระพุทธยอดฟ้าฯ มหาราช
ทรงประกาศกฤษฎาภินิหารย์
ย้ายเมืองหลวงห่างเหตุเภทภัยพาล
บริบาลปกเกล้าฯผองเผ่าไทย
หลายครั้งศึกสงครามยังตามติด
เดชบพิตรคุ้มครองให้ผ่องใส
พระเดชาปรากฎยศเกรียงไกร
ชนน้อยใหญ่พึ่งพาพระบารมี





ประวัติศาสตร์เล่าเรื่องเมืองทวาย
กับสหายเมืองมะริดตะนาวศรี
ข้องขัดเคืองเมืองพม่าหงสาวดี
ตัดไมตรีหันมาูสู่อยู่เมืองไทย
พาพระภาคิไนยองค์ไทยรัช
ที่พลาดพลัดวงศาคราศึกใหญ่
ด้วยเชษฐาธิราชองค์พระทรงชัย
"พระยารามณรงค์" ได้วายชีพชนม์






เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา
พระธิดาซัดเซระเหระหน
ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยระทมทน
ต้องอับจนบวชชีหนีภัยพาล
คือ "กรมขุนรามินทรสุดา"
เป็นหลานอาเผ่าพงศ์น่าสงสาร
ไปตกยากอยู่พม่านั้นช้านาน
พลัดถิ่นฐานไร้ญาติอนาถใจ




"มังจันจ่า" เจ้าทวายได้ปกป้อง
คอยคุ้มครองดูแลช่วยแก้ไข
จนได้คืนสู่ถิ่นแผ่นดินไทย
พระคุณใหญ่ยิ่งกว่าสุธาธาร
จอมนรินทร์เห็นความชอบตอบสนอง
ชนทั้งผองชาวทวายได้สุขศานต์
บพิตรเจ้าโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ให้ที่ฐานอยู่กินในถิ่นไทย
ตรง "ตำบลคอกควาย" นั้นหลายเหลือ
ทรงเอื้อเฟื้อเป็นแหล่งหลักพักอาศัย
เรียกหย่อมย่าน "บ้านทวาย" เรียงรายไป
เป็นสุขใจใต้ร่มพระสมภาร





จนแผ่นดินที่ห้ามาเปลี่ยนแปลก
ด้วยทรงแยกการปกครองท้องถิ่นฐาน
เป็นชั้นนอกชั้นในให้ควรการ
นามขนานเขตจังหวัดจัดวิธี
เมือง "นครเขื่อนขัณฑ์"นั้นอยู่ใกล้
รวมเอาบ้านทวายไว้ในท้องที่






แผ่นดินหกเปลี่ยนใหม่ให้นามมี
ตรงถิ่นนี้เป็นจังหวัด "พระประแดง"
แล้วเปลี่ยนใหม่อีกครั้งดังปรากฏ
เขตกำหนดมีประวัติอยู่ชัดแจ้ง






แผ่นดินเจ็ดชี้ชัดทรงจัดแจง
ได้เปลี่ยนแปลงเป็นเขตพระนคร
บ้านทวายเปลี่ยนนามตามชื่อวัด
ปรากฏชัดตรงนี้มีนุสรณ์
ชื่อว่า "ยานนาวา" สถาวร
นามกรบ้านทวายจึงหายไป






คือร่องรอยหลักฐานครั้งกาลก่อน
ได้สืบย้อนมาเล่าแจ้งแถลงไข
จารึกเรื่องเบื้องบรรพ์วันก่อนไกล
หวังมิให้สูญสิ้นคนยินยล