วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มัสยิดยะวา

มัสยิดยะวา


ศาสนาอิสลามตามประวัติ
ได้ชี้ชัดสืบสานนานหนักหนา
ครั้งกรุงเก่าชาวศรีอยุธยา
เคยไปมาค้าขายหลายชาติชน
ทั้งชวามลายูอยู่ชิดใกล้
มาอยู่ไทยตั้งหลักแหล่งหลายแห่งหน
วัฒนธรรมมากมวลล้วนปะปน
ท้งผู้คนภาษาสารการอยู่กิน


ในกรุงเทพฯ ธานีมีหลากหลาย
จนสืบสายวงศ์วารสถานถิ่น
รับราชการนานมาไร้ราคิน
ร่วมแผ่นดินแดนไทยไม่อาทร
ต่างกันแต่ศรัทธามาแต่หลัง
ได้ปลูกฝังทางธรรมคำสั่งสอน
เชื่ออัลเลาะห์สร้างสรรค์หมั่นสังวรณ์
ตราบวันมรณ์มั่นอยู่น้อมบูชา


ศาสดามูฮำหมัดได้ชัดชี้
นำวิถีสร้างชาติศาสนา
ยึดระเบียบปฏิบัติเคร่งครัดมา
ด้วยศรัทธาแนวทางที่ต่างไป
จึงสร้างวัดมัสยิดตามจิตมุ่ง
ช่วยผดุงศาสนาน่าเลื่อมใส
ทำละหมาดศาสนกิจน้อมจิตใจ
ทุกอย่างได้สร้างกุศลหนทางธรรม



ศิลปะก่อสร้างอย่างที่เห็น
มีโดมเด่นดาวเดือนเหมือนคืนค่ำ
สัญลักษณ์มีกำหนดให้จดจำ
ช่วยเตือนย้ำกำเนิดชาติพระศาสดา
สถาปัตย์จัดแต่งช่างแปลงดัด
สารพัดเลอลักษณ์นั้นหนักหนา
ืที่สาทรมี "มัสยิดยะวา"
เป็นศูนย์รวมศรัทธาน่าชื่นชม



ตามประวัติสืบค้นแต่ต้นเค้า
ว่าเป็นเหล่าชาวชวามาสร้างสม
แต่สมัยไล่ล่าอาณานิคม
หลายชาติล่มบ้างลี้หลีกหนีภัย
อินโดนีเซียล่องเรือมาหาที่อยู่
จึงมาสู่ถิ่นนี้ที่อาศัย
วัฒนธรรมเก่าแก่มาแต่ไร
ทุกสิ่งได้สืบสร้างอย่างโบราณ



ทั้งรูปทรงมัสยิดประดิษฐ์สร้าง
ดูเหมือนอย่างเรื่องเก่าที่เล่าขาน
แลดูรูปหลังคาทั้งอาคาร
ทรงสัณฐานยลแยบแบบชวา
คือความรักความหลังยังพันผูก
ถึงรุ่นลูกเหลนหลานนานนักหนา
ได้สืบทอดคงไว้ไม่ร้างรา
ล้วนคุณค่าควรคิดตราติดใจ

















วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โบสถ์คริสต์...ที่สาทร



โบสถ์อัสสัมชัญ,โบสถ์เซ็นหลุยส์




ชาติตะวันตกมีไมตรีจิต
เคยเป็นมิตรไปมาได้ค้าขาย
วัฒนธรรมหลายหลากมีมากมาย
จึงเริ่มถ่ายทอดสู่เรียนรู้กัน
ครั้นอยู่นานสานสรรค์จรรโลงศิลป์
ได้ยลยินแบบอย่างล้วนสร้างสรรค์
โปรตุเกสฮอลันดาสารพัน
แต่ปางบรรพ์มีประวัติอยู่ชัดเจน


ด้วยประเทศเขตแดนแคว้นเราเขา
สมัยเก่าอยู่ไกลมองไม่เห็น
ครั้นกรุงเทพฯ ธานีมีอันเป็น
เกิดเคืองเข็ญยุคล่าอาณานิคม
ทั้งอังกฤษฝรั่งเศสก่อเหตุร้าว
เป็นเรื่องราวหลายชาติพินาศล่ม
ลาวพม่าเขมรญวนล้วนตรอมตรม
ไทยขื่นขมเสียดินแดนแสนเสียดาย 


ด้วยเดชะพระปิยะมหาราช
จึงแคล้วคลาดทุกข์ร้อนก่อนจะสาย
จอมกษัตริย์เล็งเหตุเพทุบาย
คิดผ่อนคลายสร้างสัมพันธ์สรรค์ไมตรี
ทั่วยุโรปเสด็จเยือนเหมือนอย่างมิตร
ให้ต่อติดเพื่อนพ้องดุจน้องพี่
ลบรอยร้าวรานไปไร้ราคี
ไทยจึงมีอิสราน่าภูมิใจ





ทั้งการฑูตการค้าสารพัด
ทรงเร่งรัดก้าวหน้ากว่าครั้งไหน
ฝรั่งแขกมาสู่อยู่เมืองไทย
ศิวิไลย์หนักหนาที่สาทร
ตัดถนนกว้างขวางเป็นทางรถ
งามหมดจดแปลกตากว่าครั้งก่อน
เจริญกรุงเจริญตาน่าสัญจร
สถาพรพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน
สถานทูตสำนักงานทั้งบ้านช่อง
ดูทำนองแปลกอย่างคิดสร้างสรรค์
ทรงยุโรปหรูหราสารพัน
ปัจจุบันยังอร่ามงดงามตา





โบสถ์ฝรั่งทั้งนั้นได้สรรค์สร้าง

ไม่ราร้างลืมชาติศาสนา
ด้วยต่างคนต่างจิตคิดศรัทธา
แม้จากมาไกลห่างต่างแผ่นดิน
ชาวคริสต์เชื่อพระเจ้าสร้างสรรพสิ่ง
ไม่ทอดทิ้งบูชิตนิจสิน
เชื่อพระบุตรผู้ไถ่ไร้มลทิน
ยอมสูญสิ้นเพื่อสร้างทางนิรันดร์






รูปพระแม่มาเรียอุ้มพระบุตร
สัญลักษณ์บริสุทธิ์ที่สร้างสรรค์
คือกำเนิดพระเยซูสู่สามัญ
เพื่อมุ่งมั่นชี้ทางสร้างความดี
มีรูปไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์
เตือนตระหนักถึงพระบุตรพิสุทธิ์ศรี
ต้องโทษทัณฑ์ทรมานผลาญชีวี
ด้วยทรงชี้ทางสวรรค์อันบวร






คือมหาเมตตาคุณอดุลย์ค่า
ผู้ศรัทธาน้อมนำคำสั่งสอน
สร้างพระรูปเตือนจิตคิดสังวร
ให้อาทรเือื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน
"โบสถ์อัสสัมชัญ" สร้างอยู่บางรัก
ทั้งรูปลักษณ์ลือเล่าคนกล่าวขวัญ
กระจกสีลวดลายพร่างพรายพรรณ
ทุกสิ่งสรรพ์แลระยับงามจับตา





ชาวคริสต์ได้ทำบุญหนุนนำเนื่อง
จึงรุ่งเรืองโดดเด่นเห็นคุณค่า
ทำพิธีต่างต่างอย่างก่อนมา
ด้วยศรัทธาถือมั่นสรรค์ความดี
ทั้งรับศีลแต่งงานการทำศพ

ทั้งน้อมนบสวดมนตร์ดลสุขศรี
คริสต์มาสจัดงานใหญ่ให้เปรมปรีดิ์
ประเพณีสืบสานมานานวัน


"โบสถ์เซ็นต์หลุยส์"สร้างใหม่ไม่นานนัก
บำรุงรักเสริมสร้างทางสุขสันต์
ให้วัดอยู่คู่ชุมชนผลอนันต์
ใกล้ชิดกันช่วยเหลือเอื้้ออารี
นามโบสถ์นี้ตั้งตามนามสังฆราช
ผู้ประกาศศาสนธรรมนำวิถี
"หลุยส์  โชแรง" แน่ชัดประวัติมี
ทำพิธีเสกสร้างอย่างโอฬาร



เพื่อชาวคริสต์ได้มีที่พึ่งพัก
ยึดเป็นหลักทางใจให้สุขศานต์
เป็นโบสถ์ใหญ่ทรงยุโรปแลตระการ
อยู่ในย่านยานนาวาเขตสาทร
คนทำบุญทำทานเกื้อการกิจ
วัดนำจิตให้พระธรรมคำสั่งสอน
สร้างสังคมอุดมค่าสถาวร
ดับทุกข์ร้อนร่มรื่นชื่นชีวา

          

























วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วัดปรก


วัดปรก

มอญพม่าลาวไทยอยู่ใกล้ชิด
เป็นทั้งมิตรทั้งศัตรูคู่แข่งขัน
บางครั้งถึงรบรามุ่งฆ่าฟัน
บางครั้งผูกสัมพันธ์มั่นไมตรี
ทั้งเชื้อชาติศาสนาภาษาสรรพ์
ปะปนกันเหมือนเช่นเป็นน้องพี่
ความเป็นอยู่แบบแผนประเพณี
แต่ล้วนมีหลากหลายคล้ายคล้ายกัน








ประวัติศาสตร์ชาติมอญแต่ก่อนเก่า
เป็นพงศ์เผ่ามีประเทศครองเขตขัณฑ์
ทั้งสร้างสมวัฒนธรรมล้ำลาวัณย์
สารพันศิลป์ศาสตร์วิลาสวิไล
มอญสูญสิ้นแผ่นดินสิ้นสง่า
ถุกพม่าครอบครองหมองหม่นไหม้
ที่ทนอยู่สู้รับอัปราชัย
ที่หนีได้ทิ้งถิ่นแผ่นดินตน








กระจัดกระจายหลายครามาพึ่งพัก
ตั้งแหล่งหลักในไทยหลายแห่งหน
เป็นถิ่นฐานรวมอยู่เป็นหมู่ชน
สืบนุสนธิ์สรรค์สร้างอย่างโบราณ
"วัดปรก" สร้างอย่างมอญอาวรณ์ถวิล
ด้วยพลัดถิ่นทุกข์ยากไกลจากบ้าน
เตือนสำนึกเผ่าพงศ์ญาติวงศ์วาร
ยังสืบสานวัฒนธรรมย้ำกมล








เป็นร่องรอยอาลัยในสำนึก
จารจารึกฝากแฝงทุกแห่งหน
ทั้งสืบสานสอนสั่งฝังใจตน
ไม่ลืมชนเชื้อเผ่าแต่เก่ากาล
แม้มอญสิ้นแผ่นดินอยู่ยังรู้ค่า
เรียนภาษาสืบต่อพ่อลูกหลาน
ประวัติศาสตร์แต่หลังครั้งโบราณ
ยังเล่าขานสืบทอดตลอดมา







สถาปัตย์วัดปรกประณีตลักษณ์
ได้ประจักษ์แยบอย่างช่างหงสา
ล้วนชาวมอญอพยพหลบหนีมา
จากดินแดนพม่าหงสาวดี
ประดับประดารูปหงส์ดูทรงศักดิ์
ฉลุฉลักลวดลายระบายสี
ทั้งหน้าบันอุโบสถปรากฏมี
องค์เจดีย์กำแพงแก้วงามแพรวพราย








ยังสวดมนตร์เทศนาภาษามอญ
ทั้งสืบสอนประวัติไว้ไม่สูญหาย
ภาษามอญรำ่เรียนเพียรภิปราย
สืบเชื้อสายใ้ห้รู้จักรักเผ่าพงศ์
แรมหนึ่งค่ำเดือนสามตามแต่ก่อน
วันชาติมอญคงไว้ไม่ลืมหลง
แม้ไม่มีแผ่นดินไม่สิ้นวงศ์
ยังดำรงความเป็นชาติไม่คลาดคลาย






                                            




วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


วัดวิษณุ











ด้วยวัดแขกเนื้อที่มีไม่มาก
จึงยุ่งยากอัดแอแก้ไม่ไหว
ชาวฮินดูที่อยู่ในเมืองไทย
หลอมรวมใจสร้างอีกวัดด้วยศรัทธา
สำหรับได้ปฏิบัติศาสนกิจ
สร้างชีวิตสรรค์เสริมเพิ่มคุณค่า
อยู่ในซอยวัดปรกยานนาวา
ดูแปลกตาสถาปัตย์น่าอัศจรรย์





โบสถ์หินอ่อนจำลองสร้างอย่างเมรุมาศ
ที่ประทับเทวราชนรังสรรค์
มีโบสถ์ย่อยเรียงลำดับนับอนันต์
เป็นเชิงชั้นหลั่นลดงดงามตา
เหมือนแบบอย่างอุตรประเทศถิ่น
ประณีตศิลปกรรมล้ำเลอค่า
รูปหินอ่อนสร้างด้วยมือร่ำลือชา
ประติมาไพจิตรพิสดาร
ยี่สิบสี่องค์เทพเสถียรสถิต
ดุจดังรูปนิรมิตประดิษฐาน
ผู้ศรัทธามาวัดนมัสการ
เปรียบวิมานแมนสรวงปวงเทวา 




ให้ชื่อ "วัดวิษณุ" นามเทวะ
ผู้สละสุขผองปกป้องหล้า
ตามตำนานเชื่อถือร่ำลือมา
หลายครั้งคราอวตารผลาญทุกข์ภัย
เมื่อยามยุคยากเข็ญเป็นสาหัส
ทรงขจัดชั่วร้ายหลายสมัย
มีนามเรียกผิดแผกแตกต่างไป
ปรากฏในวรรณคดีมีำตำรา
"กฤษณะ" "พระนารายณ์" หลากหลายชื่อ
พระหัตถ์ถือจักราวุธสุดแกล้วกล้า
พาหนะประทับทรงองค์ครุฑา
มีนาคาเป็นบัลลังอลงกรณ์









ไทยรู้จักรามเกียรติ์ได้เรียนรู้
พระรามสู้ศึกหาญชาญสมร
ทศกัณฐ์ลักสีดาพาจากจร
พระสี่กรตามติดพิชิตชัย
ทั้งพระลักษมณ์หนุมานทหารกล้า
ผลาญวงศาพระยายักษ์ให้ตักษัย
คือปางหนึ่งแห่งพระกฤษณ์ฤทธิไกร
ช่วยแดนไตรพ้นทุกข์ยุคกลี
เป็นที่ตั้งสมาคมอุดมค่า
"ฮินดูธรรมสภา" สง่าศรี
ดำเนินการสานสัมพันธ์สรรค์ไมตรี
ให้พราหมณ์มีศูนย์รวมอยู่ร่วมกัน
















วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี


วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก)





แดนชมพูทวีปนั้นในวันเก่า  
อาจนับเอาเป็นศูนย์กลางได้สร้างสรรค์
วัฒนธรรมมากมวลล้วนสำคัญ
เนิ่นนานวันสืบสายขยายไป
ทั้งศิลปะวรรณกรรมล้ำคุณค่า
ยังก่อเกิดศาสนาน่าเลื่อมใส
พราหมณ์ฮินดูเก่าแก่มาแต่ไร
แต่ครั้งกรุงสุโขทัยได้ยลยิน




ทั้งอักษรภาษาสารพัด
ล้วนแปลงดัดจากอินเดียเสียทั้งสิ้น
พิธีกรรมทำมาเป็นอาจิณ
ทุกฐานถิ่นแลเห็นเป็นธรรมดา
เหตุด้วยพราหมณ์รู้พระเวทย์วิเศษศาสตร์
จึงสามารถชี้นำธรรมกถา
สรรพศิลป์สารพัดปรัชญา
เป็นครูบาอาจารย์ชำนาญวิทย์
พราหมณ์ศรัทธาบวงสรวงปวงเทวะ
กฤษณะพรหมอิศวรล้วนศักดิ์สิทธิ์
สร้างสถานเทวาลัยไว้บูชิต
ถือเป็นกิจพึงกระทำนำชีวี






ที่สีลมมีศาสนสถาน
ผู้คนขานเรียก "วัดแขก" แปลกวิถี
"วัดพระศรีมหาอุมาเทวี"
นาถนรียิ่งใหญ่ในตำนาน
มเหสีศิวะเจ้าจอมเทเวศน์
มีฤทธิ์เดชมากนักเกินจักขาน
อาจแบ่งภาคเปลี่ยนไปได้ตามกาล
คนขนานเรียกอย่างต่างกันไป








"ทุรคา" "กาลี" ล้วนมีเหตุ
ขจัดเภทพาลยักษ์ให้ตักษัย
จึงดุดันอาจองทะนงใจ
สามโลกไร้ผู้กล้ามาต้านทาน
แต่ยามเป็น "พระอุมา" สง่าศรี
พระทัยดีล้ำเลิศประเสริฐศานต์
อาจอำนวยพรชัยให้สราญ
มากประมาณตามจิตประสิทธิ์พลัน




ที่วัดแขกคนเคารพมานบไหว้
ขอพรให้โชคดีมีสุขสันต์
ประกอบกิจศาสนาสารพัน
อย่างเบื้องบรรพ์ประเพณีเคยมีมา
ทุกทุกปีมีงานการฉลอง
ตามครรลองเชื้อชาติศาสนา
"นวราตรี" พร้อมน้อมบูชา
สวดมนตราไสยเวทย์อย่างเพศพราหมณ์









ในราตรีที่สิบนั้นสืบสาน
พิธีการผุ้คนเหลือล้นหลาม
อัญเชิญเทวรูปออกนอกอาราม
คนติดตามแหนแห่พระแม่อุมา
ต่างเซ่นสรวงบวงพลีมีต่างต่าง
เหมือนแบบอย่างเชื่อกันนั้นหนักหนา
ให้ทุกข์ทนทุเรศน่าเวทนา
ทรมานกายาสารพัด
ทั้งทุบตีทิ่่มแทงดูแรงร้าย
ด้วยมุ่งหมายเทวีศรีสวัสดิ์
ทรงเมตตาอวยชัยให้พิพัฒน์
ช่วยขจัดขัดข้องพ้นผองภัย






วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สตรีศรีสุริโยทัย ในอดีต


วัดสุทธิวราราม

จากสตรีบ้านทวาย  กลายมาเป็น ศท.


แต่โบราณกาลก่อนย้อนเรื่องเล่า
ชาติไทยเราเคยทุกข์เคยสุขสันต์
เหลือร่องรอยหลักฐานผ่านคืนวัน
สารพันควรค่าน่าเรียนรู้
วัฒนธรรมอำไพแห่งไทยชาติ
ล้วนประกาศให้เห็นความเป็นอยู่
ทุกถิ่นที่มีให้เห็นเหมือนเป็นครู
สอนให้รู้สอนให้รักประจักษ์ใจ










ศิลปะประเพณีมีสืบสาน
ดุจตำนานเล่าแจ้งแถลงไข
ส่ิองสะท้อนให้เห็นความเป็นไป
แฝงอยู่ในวิญญาณ์น่าอัศจรรย์
ไทยรุ่งเรืองเมืองพุทธพิสุทธิ์ศรี
นับพันปีผ่านทุกข์ผ่านสุขสันต์
ได้อาศัยหลักธรรมนำชีวัน
ล้วนยึดมั่นสืบทอดตลอดมา





เมื่อตั้งแหล่งตั้งหลักพักอาศัย
มักร่วมใจสร้างอาวาสศาสนา
ด้วยวัดเป็นที่พึ่งซึ้งวิญญาณ์
จึงศรัทธาแน่นหนักประจักษ์ใจ
มีลูกหลานพากเพียรได้เรียนรู้
พระเป็นครูอบรมบ่มนิสัย
ที่ขัดข้องเคืองเข็ญเป็นอย่างไร
เป็นที่พึ่งซึ้งใจหายร้อนรน
จนถึงวันสุดท้ายวายชีวิต
ญาติอุทิศทานให้ได้กุศล
ทุกหนแห่งแหล่งย่านบ้านชุมชน
จึงขวายขวนสร้างวัดด้วยศรัทธา





ที่สาทรก่อนนี้มีวัดเก่า
พอรู้เค้าเหลือไว้ได้ศึกษา
"วัดคอกควาย" เก่าแก่แต่บรรพา
เปลี่ยนเป็น "วัดยานนาวา" สถาพร
ยัง "วัดลาว" มีชื่อร่ำลือขาน
สร้างแต่กาลกรุงศรีฯ มีนุสรณ์
ล้วนชาวบ้านก่อเกื้อเอื้ออาทร
จึงถาวรคงมั่นนิรันดร์มา







จนกรุงเทพฯ ธานีมีประวัติ
บูรณะวัดแห่งนี้ศรีสง่า
"ท่านผู้หญิงสุทธิ์" นั้นมั่นศรัทธา
ภริยา "เจ้าพระยาวิเชียรคีรี"
สร้างอุโบสถใหม่ได้ประจักษ์
ให้สมศักดิ์อารามอร่ามศรี
แผ่นดินหกแน่ชัดประวัติมี
นามวัดนี้เปลี่ยนใหม่ในครั้งนั้น







รัชกาลที่หกพระราชทาน
เป็นหลักฐานสืบไว้ได้สร้างสรรค์
"วัดสุทธิวราราม" งามลาวัณย์
ถึงปัจจุบันลือร่ำเกียรติกำจาย
ด้วยท่านเป็นต้นสกุล ณ สงขลา
บุตรธิดารุ่นหลังยังสืบสาย
สร้างโรงเรียนก่อนเก่าเล่าภิปราย
ทั้งหญิงชายเรียนรู้อยู่ด้วยกัน







"โรงเรียนวัดสุทธิวราราม"
ยังสืบนามยืนยงดำรงมั่น
ส่วน "สตรีวัดสุทธิ" ปัจจุบัน
สังกัดกรมสามัญนั้นเปลี่ยนไป
เป็น "สตรีบ้านทวาย" ได้บันทึก
จารจารึกประวัติมีชี้ชัดได้
ในซอยดอนกุศลสร้างไม่ห่างไกล
"การช่างพระนครใต้" แต่เดิมที






แล้วเปลี่ยนนามตามรัฐนิยม
ให้เหมาะสมคุณค่าสง่าศรี
จึงได้นามตามนั้นตราบวันนี้
"โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย"
คือเรื่องราวเก่าก่อนย้อนสืบค้น
ทุกแห่งหนความรู้มีอยู่ใกล้
ประวัติความเป็นมาน่าสนใจ
สะท้อนให้เห็นค่าสารพัน



                  
                          



วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัดดอน...ร่องรอยที่หลงเหลือ



วัดบรมสถล (วัดดอน)

วัดดอนทวาย, เจดีย์ดำ  ร่องรอยชาวทวายที่ยังหลงเหลือ



เรื่องวัดดอนก่อนเก่าเล่าขยาย
พระยาทวายสามิภักดิ์สโมสร
เมื่อแรกตั้งนคราฟ้าอมร
ทรงอาทรให้อยู่เป็นหมู่ชน
ล้วนนับถือศาสนามาก่อนเก่า
จึงใฝ่เฝ้าจิตใจใฝ่กุศล
แม้ยากไร้ถิ่นที่มีหรือจน
ในกมลยังมีที่พึ่งพา








ตรงที่ดอนจึงสร้างวัดเอาไว้
ผู้คนได้ทำบุญมีคุณค่า
เรียกชื่อ "วัดดอนทวาย" หลายปีมา
ถึงราชาพระจอมเกล้าฯ เจ้าแผ่นดิน
พระราชทานนามวัด "บรมสถล"
ปรากฏจนบัดนี้ไม่มีสิ้น
เป็นวัดราษฎร์มีชื่อลือระบิล
อยู่ในถิ่นยานนาวามาเนิ่นนาน





"เจดีย์ดำ" โดดเด่นยังเห็นอยู่
จารึกผู้สร้างไว้ให้สืบสาน
ชาวพม่า "โพ้ส่วยดอง" ต้องรบราญ
เบื่อหน่ายการสงครามตามราวี
มาออยู่ไทยในรัชกาลที่หนึ่ง
หันมาพึ่งพุทธธรรมนำวิถี
ได้สร้างสรรค์รูปทรงองค์เจดีย์
เหมือนอย่างที่เมืองพม่าแบบรามัญ
แม้วัดสร้างอย่างไทยเปลี่ยนไปหมด
ยังปรากฏเจดีย์ที่สร้างสรรค์
ให้เห็นเค้าเล่าเรื่องแต่เบื้องบรรพ์
ที่วัดนั้นนานเนาเก้าแผ่นดิน



วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สำเภาเจดีย์ ที่วัดยานนาวา


วัดยานนาวา

พระอารามหลวง ริมฝั่งเจ้าพระยา





ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีอาราม
ปรากฏนามเก่าแก่แต่กรุงศรีฯ
"วัดคอกควาย" แรกเริ่มแต่เดิมที
ธนบุรีเปลี่ยนเป็น "วัดคอกกระบือ"
มีฐานะเป็นพระอารามหลวง
เวลาล่วงผลัดแผ่นดินไม่สิ้นชื่อ
เมื่อจอมไทยสร้างเมืองจนเลื่องลือ
ทรงนับถือสร้างวัดสร้างศรัทธา


   


บูรณะวัดเก่าที่เศร้าหมอง
ให้เรืองรองร่มราษฎร์ศาสนา
เป็นแหล่งหลักพักใจไทยประชา
พระเมตตาทรงนำช่วยค้ำจุน
รัชกาลที่สามศรีสวัสดิ์
ทรงสร้างวัดน้อยใหญ่ได้เกื้อหนุน
วัดเก่าเสริมเติมสรรค์นั้นอดุลย์
เสริมสร้างบุญบารมีพระปรีชา







เจดีย์วัดคอกกระบือนั้นลือเล่า
เหมือนสำเภาจำลองลักษณ์นั้นหนักหนา
ด้วยแต่ก่อนภูวไนยเคยขายค้า
ใช้นาวาล่องแล่นต่างแดนดิน
ครั้นมีเรือกลไฟได้รู้จัก
ไม่นานนักสำเภาใหญ่จะไร้สิ้น
จึงสร้างไว้ให้ชนได้ยลยิน
บนฐานถิ่นอารามงามตระการ






ยังเปรียบเป็นปริศนาธรรมาด้วย
สำเภาช่วยนำส่งพ้นสงสาร
ครั้งพระเวสสันดรบำเพ็ญทาน
สองกุมารหลบลี้หนีภยันตร์
ทรงปลอบปลุกสองดรุณให้เริงรื่น
ดุจนาวาฝ่าคลื่นเข้มแข็งขัน
หมายโลกุตรธรรมนำชีวัน
สำเภานั้นให้เห็นเป็นอุปมา
เสากระโดงสูงเด่นเป็นเจดีย์
วิสุทธิ์ศรีเสาวลักษณ์เป็นหนักหนา
แล้วเปลี่ยนชื่อวัดงามอร่ามตา
เป็น "วัดยานนาวา" สถาวร



เจริญกรุง...จากวันนั้น ถึงวันนี้


เจริญกรุง

หัวลำโพง,คลองผดุงกรุงเกษม,เจริญกรุง,ถนนตก,สีลม
จากวันนั้้น...ถึงวันนี้





ทางถนนหนทางอย่างวันนี้
มิได้มีมาเก่าตามเล่าขาน
เพิ่งตัดเติมเสริมสร้างทางโอฬาร
ทุกหย่อมย่านควรค่าน่าสนใจ
ด้วยวิถีชาวไทยสมัยก่อน
มักสัญจรทางเรือทั้งเหนือใต้
ใช้แม่น้ำคูคลองขึ้นล่องไป
เรือเล็กใหญ่หลายหลากนั้นมากมี








ทางถนนคนใช้มีไม่มาก
ทั้งยุ่งยากโจรภัยจึงหน่ายหนี
จนกระทั่งฝรั่งไทยผูกไมตรี
ทั่วกรุงศรีจึงเร่งรัดพัฒนา
ชาวยุโรปมาไปใช้ทางบก
ไม่เรื้อรกหนทางกว้างนักหนา
ขับขี่รถเล็กใหญ่วิ่งไปมา
พระจอมเกล้าฯ ราชาจึงปรารมภ์







ให้ข้าราชการด้วยช่วยสรรค์สร้าง
ทำหนทางปูอิฐหินดินผสม
ขุดคูคลองคิดสร้างทางอุดม
เอามาถมเป็นถนนหนทางจร
ที่ทุ่งวัวลำพองเป็นคลองใหญ่
ขุดเอาไว้ให้เห็นเป็นนุสรณ์
คลอง "ผดุงกรุงเกษม" สถาวร
เมื่อครั้งก่อน "ถนนตรง" ยังคงมี






วัวลำพองชื่อเพี้ยนเปลี่ยนแปรผัน
"หัวลำโพง" เรียกกันนั้นแทนที่
ถนนใหม่แยกวกตกชลธี
จึงชื่อชี้ "ถนนตก" แต่เดิมมา
ฝรั่งเรียก "นิวโรด" รู้กันได้
ถนนสายใหม่นี้มีมีสง่า
ทั้งกว้างขวางใหญ่โตดูโอฬาร์
เรียกนามา "เจริญกรุง" จำเริญใจ







ยังถนนตัดขวางแต่บางรัก
ถึงสายหลักวัวลำพองนั้นผ่องใส
ตามคดีมีเค้าเ่ล่ากันไว้
ฝรั่งได้สร้างโรงสีมีมานาน
จึงเรียกนาม "สีลม" สมเหตุผล
ตามผู้คนแต่ก่อนเก่าเคยเล่าขาน
เหลือร่องรอยยังเห็นเป็นตำนาน
ทุกถิ่นฐานคงอยู่รู้คดี